ฐานเรียนรู้ที่ 1 :
การตัดแต่งกิ่ง หลักสำคัญของการตัดแต่งกิ่งลำไยต้องคำนึงถึง พื้นที่ การออกดอก ติดผล ความสะดวกต่อการดูแลรักษาและต้นทุนการผลิต ประโยชน์ของการตัดแต่งกิ่ง ได้แก่ เร่งให้ลำไยแตกใบอ่อน ควบคุมความสูงของทรงพุ่ม ลดการระบาดของโรคและแมลง ผลผลิตมี คุณภาพ
รูปทรงของการตัดแต่งกิ่งได้แก่
1. ทรงเปิดกลางพุ่ม โดยจะตัดกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออก 2-5 กิ่ง เพื่อลดความสูงของต้นและให้แสงแดดส่องเข้าในทรงพุ่ม ตัดกิ่งที่ถูกโรคและแมลงทำลาย กิ่งที่ไขว้กัน กิ่งซ้อนทับและกิ่งที่ชี้ลงออก
2. ทรงสี่เหลี่ยม เหมาะกับลำไยที่มีอายุน้อยและปลูกในระยะชิดกำหนดความสูงไม่เกิน 4 เมตร ตัดกิ่งด้านช้างทรงพุ่มทั้งสี่ด้านโดยตัดลึกจากปลายกิ่งเข้าไปประมาณ 30-50 เซนติเมตร 3.ทรงฝาชีหงาย โดยตัดกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออกให้หมดเหลือเฉพาะกิ่งที่เจริญในแนวนอน (กิ่งกระโดงหรือกิ่งน้ำค้าง)หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตตัดกิ่งกระโดงให้เหลือตอยาวประมาณ 3-5 นิ้ว เพื่อกระตุ้นการแตกใบและควบคุมความสูงของทรงพุ่ม ข้อดี คือ ลำไยทรงเตี้ยควบคุมให้อยู่ในระดับเดิมได้ทุกปี กระตุ้นการแตกใบอ่อนเร็วขึ้นและผลผลิตคุณภาพดี โดยเฉพาะผลลำไยที่เกิดจากกิ่งกระโดงในทรงพุ่มจะมีผิวสีเหลืองทองเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถลดต้นทุนลงได้ประมาณร้อย 20-50
ฐานเรียนรู้ที่ 2 :
การปฏิบัติดูแลรักษา ระยะแทงช่อดอก ให้น้ำเล็กน้อย พ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 10-45-10,10-52-17 อัตรา 20-30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ระยะดอกบาน ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ งดการพ่นสารเคมี ระยะติดผล ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต งดการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว 7-10 วัน ระยะหลังการ เก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 10-20 กก./ต้น ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ระยะใบแก่ ตัดแต่งกิ่งอีกหนึ่งรอบ
ใส่ปุ๋ยสูตร 9-24-24 พ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 เพื่อช่วยให้ใบแก่เร็วขึ้น ป้องกันการแตกใบอ่อน งดการให้น้ำเพื่อให้ต้นลำไยพักตัวเร็วขึ้นพร้อมทั้งมีการสร้างตาดอก
ฐานเรียนรู้ที่ 3 :
การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงบำรุงดินที่เสียจากการใช้ปุ๋ยเคมี และเป็นการลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี การผลิตเชื้อโตรโคเดอร์ม่าใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราสาเหตุของการเกิดโรคพืชหลายชนิด เพื่อลดต้นทุนการผลิต ให้ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัย การผลิตเชื้อบิวเวอเรียทำลายแมลง ซึ่งสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด โดยการผลิตเอนไซม์ที่เป็นพิษต่อศัตรูพืชและเป็นเชื้อราที่อาศัยกินเศษซากที่ผุพัง
ฐานเรียนรู้ที่ 4 :
การแปรรูปผลผลิตลำไย เพื่อเพิ่มมูลค่า และได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ การทำลำไยอบแห้งเนื้อสีทองและการทำน้ำลำไย