ฐานเรียนรู้ที่ 1 :
การผลิตน้ำหมักสำหรับฉีดพ่นในสวนยางพาราในการทำน้ำหมักใช้วัสดุในท้องถิ่น (ฟักทอง) 40 กิโลกรัม กากน้ำตาล 20 กิโลกรัมผสมให้เข้ากันในถัง 200 ลิตรหลังจากนั้นผสมน้ำ 5 ลิตรกับ พด.2 หนึ่งซอง เทใส่ลงในถังหมัก 200 ลิตร และเติมน้ำจนท่วมวัสดุที่ใช้หมัก หมักไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 30 วัน การผสมสูตรน้ำหมัก นำปุ๋ยยูเรีย 5 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร จนละลายในถังขนาด 200 ลิตร และน้ำหมัก 20ลิตร จากนั้นเติมน้ำ 110 ลิตร คนให้เข้ากันจนได้ส่วนผสมทั้งหมด 150 ลิตร แล้วนำไปฉีดพ่นทันที
ฐานเรียนรู้ที่ 2 :
การเตรียมดินก่อนการเปิดกรีดและการเพิ่มผลผลิตโดยการกรีดยางพาราให้ถูกวิธี
การเตรียมดินก่อนการเปิดกรีดจะทำ 2 ครั้งใน 1 ปี ในช่วงต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน โดยมีวิธีการดังนี้
- กวาดใบยางพาราออกจากโคนต้นถึงปลายรัศมีทรงพุ่มต้นยาง หลังจากนั้นทำการฉีดน้ำหมักที่ผสมไว้ลงดินรอบๆต้นยาง ซึ่งจากสูตรข้างต้น สามารถฉีดพ่นได้ 10-12ไร่ อัตราการใช้ 12.50 ลิตร/ไร่
- หลังจากฉีดพ่นสูตรน้ำหมักดังกล่าวแล้วก็ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการย่อยสลายเศษวัสดุ เช่น ปุ๋ยมูลวัวปุ๋ยมูลไก่จำนวน 20 กิโลกรัม/ต้น รอบโคน พร้อมกับหว่านปุ๋ยเคมีสูตร20-10-12 จำนวน 1 กิโลกรัม/ต้น
การเพิ่มผลผลิตโดยการกรีดยางพาราให้ถูกวิธี เกษตรกรควรตระหนักถึงวิธีการกรีดยาง ให้หน้ายางพาราเสียหายน้อยที่สุด กรีดได้นานที่สุด (25-30 ปี) และประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด ต้องยึดหลักที่ว่าขนาดของต้นยางที่พร้อมจะเปิดกรีด ต้องมีเส้นรอบต้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร วัดความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร เปิดกรีดครั้งแรกต้องมีจำนวนต้นยางที่พร้อมที่จะเปิดกรีดเกินกว่าครึ่งหนึ่งของต้นยางทั้งหมดในสวน เมื่อกรีดแล้วจะต้องได้น้ำยางมากที่สุด
ฐานเรียนรู้ที่ 3 :
การเกษตรแบบผสมผสานโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการประกอบอาชีพเสริมเพื่อชดเชยรายได้จากราคายางพาราที่ตกต่ำ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืช ได้แก่ การปลูกพืชผักสวนครัวมะขามหวาน ไผ่เลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อพลาสติก เป็นต้น เพื่อบริโภคในครัวเรือนเหลือจึงขาย และใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด